กฎแห่งกรรมที่แท้จริง ของเหมือนกันแต่ต่างกันเพราะความมีตัวตน

9 ก.ย. 57 / 961 อ่าน

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557 กฎแห่งกรรมที่แท้จริง ของเหมือนกันแต่ต่างกันเพราะความมีตัวตน เมื่อเกิดความเห็นผิดในความเป็นตัวตน (สักกายทิฏฐิ) ความเป็นบุคคล เรา เขา จึงมีขึ้นในใจ เมื่อมีเราเขาขึ้นในใจ จึงเห็นว่ามีเขามาทำฉัน ฉันต้องทำคืน กฏแห่งกรรม "ในมุมมอง" ของผู้มีสักกายทิฏฐิ คือมีตัวตนจึงเกิดมี เราไปทำเอาไว้ในชาติก่อน ชาตินี้เราจึงต้องรับผลแบบนี้ ที่เกิดเป็นอย่างนี้เพราะเจ้ากรรมนายเวรตามมาเอาคืน นี่คือความเห็นผิดที่เกิดจากจุดสำคัญคือความเห็นผิดในความมีตัวตนที่ตัวเอง??ลองมาดูในมุมมองที่หากละสักกายทิฏฐิ-ละความเห็นผิดในความมีตัวตน (เรามีตัวตนในใจเราเอง จริงๆ ไม่เคยมี) ได้แล้ว เมื่อละสักกายทิฏฐิลงแล้ว นั่นคือเกิดความเห็นอันถูกต้องว่า กายใจนี้หรือในมุมที่เรียกขันธ์ ๕ นั้น (ขันธ์ ๕ ไม่ได้มีไว้ให้เรียนเป็นปริยัติหรือให้เชื่อตาม) เป็นเพียงธรรมชาติที่เข้ามาประกอบรวมกัน แสดงผลมาจากการรับรู้ในประสบการณ์เดิม รับรู้ความรู้สึกและแสดงอารมณ์ออกมาได้ จึงมีสภาพทุกข์ เมื่อละความเห็นผิดในความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขาลงได้ (คำว่า "ละความเห็นผิด" คือการที่ความจริงมีอยู่เช่นโลกนี้กลม แต่คนในโลกไปเข้าใจผิดเองว่าโลกนี้แบน จนวันหนึ่งเฝ้าสังเกตและตามศึกษาจนเกิดเห็นความจริงขึ้นมาว่า โลกนี้กลม จึงเกิดความเข้าใจที่ถูก อย่างนี้เรียกว่า ละความเห็นผิด ที่สำคัญคือ เมื่อเห็นถูกแล้วจะงงว่าโลกไม่เคยแบนสักวินาทีเดียว เราหรือใครๆ เข้าใจหรือเห็นว่ามันแบนไปได้อย่างไร) จากการปฏิบัติตามอริยมรรค ผลที่ออกมาจึงเกิดความเข้าใจที่ถูก-สัมมาทิฏฐิ เมื่อเข้าใจถูก มองอะไร เห็นอะไร คิดอะไร วิเคราะห์อะไรก็ถูก ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเข้าใจว่าโลกนี้แบน หากเราจะวางแผนที่จะเดินทางไกลไปในทะเล เราจะกลัวตกโลก หรือเราจะมัวแต่หาวิธีที่จะคำนวณความหนาของโลกเพราะเราคิดเอาเองในใจว่าถ้ามันแบนมันต้องมีความหนา เราจะคิดเอาว่าใต้โลกที่เรายืนอยู่จะไม่มีคนอยู่เพราะคนเหล่านั้นจะใช้ชีวิตหัวทิ่มลงทั้งวัน เลือดจะต้องตกหัว ทานข้าวไม่ได้เพราะจะสำลัก มันจะก่อความเข้าใจที่ผิดเป็นสายยาว เมื่อก่อความคิดเห็นที่ผิดขึ้นใจเหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ทำอะไรก็ผิด พูดอะไรก็ผิด เพราะมีแต่พูดเรื่องตัวกู ของกู ทำอะไรก็ผิด เพราะสิ่งที่ทำไปล้วนก่อให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น (ถ้าเถียงว่าสุข ให้ดูไปยาวๆ ยาวให้ถึงบทจบของมัน เพราะเมื่อสร้างความยึดมั่นแล้ว จบที่ทุกข์ทั้งหมด)??ทีนี้เมื่อเข้าใจถึงตรงนี้แล้ว ในมุมมองความเห็นอันถูกต้องหรือผู้ที่เกิดสัมมาทิฏฐิในเรื่องกฎแห่งกรรมจะเป็นอย่างไร เริ่มจากการกระทบ ที่เราว่าคนนั้นด่าฉัน จะเห็นเพียงเสียงที่มากระทบหู ใจเกิดเป็นทุกข์ เมื่อใจเป็นทุกข์ ก็เห็นว่าอยากจะผลักไสสิ่งนั้นไปไกลๆ ไปให้พ้นๆ เห็นว่ามีการกระทบกันเพราะมีสัญชาตญาณที่สั่งสมมาแบบนี้ เมื่อมีสติปัญญาที่ถูกต้อง การจะเปลี่ยนแปลงให้การตอบสนองเป็นไปอย่างถูกต้องจึงต้องใช้อริยมรรคมีองค์ ๘ เข้ามาเปลี่ยนแปลงสันดานเดิมให้ตอบสนองอย่างถูกต้อง พูดง่ายๆ ว่าดัดนิสัยให้ถูกในเบื้องต้น ในส่วนของกฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งการกระทำนั้นเมื่อเข้าใจความจริงของผัสสะ ตัวอย่างเช่นการที่มีคนมาด่าเรา นั่นก็คือวิบากกรรมซึ่งมีผลมาจากการกระทำกรรมในอดีตนั่นเอง (อดีตไม่ใช่ชาติก่อนนะ วินาทีที่แล้วก็อดีตแล้ว) แต่เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติความจริงแล้ว วิบากจึงแทบจะไม่เป็นวิบากอีกเพราะมันเป็นเพียงสิ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่ตอบสนองต่อการด่านั้นๆ ในทางทุกข์อีก หากเกิดปัญญาที่สูงสุดดังนี้ คำว่ากฎแห่งกรรมจะสลายเป็นเพียง เช่นนั้นเอง ไม่มีใครทุกข์กับมันเพราะเห็นมันเป็นเพียงธรรมชาติที่มีเหตุปัจจัยหนุนเนื่องกันไป ถ้าเข้าถึงตรงนี้จะมีใครไปรับวิบาก ถ้าไม่มีใครรับวิบากแล้วใครจะทุกข์ ความเข้าใจว่าในชาติก่อน ชาติปัจจุบันก็มีอยู่ แต่เมื่อละความเห็นผิดในความเป็นตัวตน จะเห็นเพียงขันธ์ ๕ ที่เกิดสืบเนื่องจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและจะยังคงส่งผลสืบเนื่องต่อไปให้เป็นเหตุเกิดต่อๆ ไปในทุกๆ ขณะ เพราะเราสร้างเหตุกันไม่เคยหยุด เหตุเกิดนั่นคือเราสร้างกุศลและอกุศลตลอดเวลา เหตุเป็นอกุศลส่งผลให้เกิดความทุกข์ใจ เหตุอันเป็นกุศลก่อให้เกิดความสุขใจ เนื่องจากเมื่อเกิดความทุกข์ใจหรือสุขใจขึ้นแล้ว ความมีตัวตนที่ก่อขึ้นไปยึดถือผลอันเป็นทุกข์หรือสุขนั้นด้วยความไม่รู้ จึงมีตัวตนทั้งในสุขทั้งในทุกข์นั้น รวมถึงก่อบุคคล เรา เขาขึ้นมาในใจเป็นเจ้าของสุข ทุกข์ ความเป็นตัวตนจึงเกิดขึ้นจากความเห็นผิด ก่อเป็นอุปาทาน เป็น ภพ เป็นชาติ หมุนวนต่อไป จากเหตุอกุศล ส่งผลเป็นการเกิดในทุคติภูมิ ส่วนผลของการทำกุศลก่อให้ใจเป็นบุญ เป็นสุข เป็น "เรา" เกิดความปลื้มอกปลื้มใจ นั่นก็ไปก่อภพภูมิอันเป็นสุคติภูมิ นั่นจึงเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดทั้งสิ้น??เมื่อได้เห็นตามความจริงอย่างนี้ จึงหยุดการทำเหตุอันเป็นอกุศล ความทุกข์ใจในส่วนหยาบๆก็หมดไป ส่วนเหตุอันเป็นกุศลนั้นทำต่อเนื่องไม่หยุด อ้าวนั่นสร้างเหตุเกิดต่อไปในสุคติไม่ใช่เหรอ? แน่นอนถ้าทำกุศล แล้วเกิดเป็นปีติ สุข ถ้าไม่รู้เข้าไปยึดถือความสุขนั้น ย่อมก่อตัวตนและเป็นเหตุแห่งการเวียนว่ายต่อไปอีก แต่ถ้าเข้าใจถึงธรรมชาติของการเกิดขึ้นดับไปของอารมณ์เหล่านั้น ความยึดถือก็จะไม่เกิดขึ้น เกิดเป็นเพียงธรรมารมณ์ คืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดตามธรรมชาติไม่มีผู้ยึดถือ ก็พ้นไปจากสภาพที่ก่อเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา ไม่มีเหตุเกิด เป็นเพียงสร้างแต่คุณประโยชน์ให้โลก ให้ผู้อื่นโดยส่วนเดียว แต่เมื่อเห็นอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติก็อย่าไปเข้าใจผิดด้วยการไปบังคับไม่ให้เกิดความสุขเกิด เพียงเมื่อเข้าใจอารมณ์ว่ามีธรรมชาติเกิดขึ้นดับไป อารมณ์ทั้งหลายก็ไม่ถูกยึดถือที่จะก่อเป็นภพชาติให้กับใครๆ อีก??เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ลองมาวัดความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมกันสักเล็กน้อย ถ้าเกิดเหตุอันจะก่อให้ถึงความตาย ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างไร?1. ซวยจริงๆ มิน่าช่วงนี้เขาว่าดวงไม่ค่อยดี?2. เจ้ากรรมนายเวรตามมาเอาคืน เนี่ยะถ้าทำบุญสะเดาะเคราะห์เสียก่อนก็จะไม่เกิด?3. ทุกข์ซึมเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ตัดพ้อโทษทุกคน โทษตัวเอง จิตตกจมอยู่ในกองทุกข์??แล้ววันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานเพราะท่านเสวยสุกรมัทวะ ตลอดเวลาตั้งแต่พระองค์ทรงพระประชวรจากอาการอาพาธจนถึงวินาทีที่พระองค์เข้าสู่การปรินิพพาน พระองค์ไม่ทุกข์กับเหตุการณ์นี้เลย เหตุการณ์เหมือนกัน ส่งผลเหมือนกันคือความตาย ต่างกันที่คนทั่วไปทุกข์ แต่พระองค์ไม่ทุกข์ ไม่ใช่เพราะพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ท่านจึงไม่ทุกข์ แต่เพราะท่านเห็นความจริงตามความเป็นจริงจนปล่อยวางทุกอย่างได้แล้ว พวกเราทุกคนก็พ้นไปจากกฎแห่งกรรมนี้ได้เช่นกัน ก็ถ้าการกระทำไม่เป็นกรรมดี กรรมชั่วอีก (ความจริงกรรมชั่วหมดไปตั้งแต่ละชั่วทางกาย วาจา ใจ หมดแล้ว) กรรมดีก็ไม่มี