คุณนี่...เป็นเศรษฐีนะ!

24 ธ.ค. 55 / 1286 อ่าน

ในวงสนทนาแห่งหนึ่ง ชายคนแรก : คุณนี่เป็นเศรษฐีนะ ชายคนที่สอง : โอ้ยไม่ใช่หรอกครับ หนี้สินเยอะแยะ ชายคนแรก : แล้วระหว่างเบนซ์กับบีเอ็มที่ใช้อยู่ชอบคันไหนมากกว่ากัน ชายคนที่สอง : ผมชอบบีเอ็มมากกว่า ขับสนุกแต่สะเทือนกว่า เบนซ์ก็นิ่มดีแต่มันป๋าไปหน่อย ชายคนแรก : มีทั้งเบนซ์ทั้งบีเอ็มยังว่าตัวเองไม่ใช่เศรษฐีอีกเหรอ...     เห็นไหมเมื่อชายคนที่สองถูกถามว่าเขาเป็นเศรษฐีเหรอ เขากลับบอกว่าเขาไม่ได้เป็นเศรษฐี แต่ถ้าถามถึงรถหรูที่เขามี (อยู่จริง) เขาจะตอบได้อย่างฉะฉานไม่มีการเก้อเขิน ทำไมเหรอ? เพราะว่าบีเอ็ม เบนซ์ สมรรถนะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ส่วนคำว่าเศรษฐีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเรียกบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เขาจะต้องไปปรารถนาจะเป็นอะไรแล้ว ส่วนใหญ่เราก็จึงเห็นว่าเศรษฐีจริงๆกลับไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นเศรษฐีเลย เขาก็แค่มีเงินใช้อยากซื้ออะไรอยากได้อะไรก็ซื้อ มันก็เท่านั้นเอง เป็นเศรษฐีตรงไหน     แล้วเกี่ยวอะไรกับพระโสดาบันหรือ? ถ้ามีใครไปถามพระโสดาบันหรือพระอรหันต์ ท่านจะไม่ตอบรับหรือปฏิเสธเพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวท่าน นั่นเป็นสิ่งที่คนๆนั้นพูดไปเอง แต่หากถามว่าแล้วท่านยังลังเลสังสัยในพระพุทธเจ้าไหม ในพระธรรมไหม ในพระอริยสงฆ์ไหม ท่านก็จะตอบได้เป็นฉากๆอย่างผู้ที่สัมผัสเองตลอดเวลา   เอาล่ะถ้ามีคนบอกว่า การตอบแบบนี้ก็คือการอวดตัวว่าตัวเองเป็นพระโสดาบันนั่นแหละ ก็คงตอบว่า ไม่ใช่ เพราะคำที่ว่าเป็นพระโสดาบันหรือพระอรหันต์(ซึ่งละสังโยชน์๑๐แล้ว) นั่นท่านตอบตามที่ถูกถามและสิ่งนั้นก็เป็นอย่างนั้นอยู่จริงๆ ไม่ใช่ท่านหรือตัวท่าน เมื่อคนไปตีความกันเองจะเกี่ยวอะไรกับท่านด้วย แล้วจะบอกว่าท่านตอบอย่างนี้จะให้คนคิดว่าอย่างไรล่ะ นั่นก็กล่าวหาท่านไม่ได้เพราะถามในสิ่งที่ท่านรู้แล้วทำไมท่านจะไม่ตอบ นอกจากเห็นว่าผู้ถามมีเจตนาเป็นที่ไม่ได้ต้องการคำตอบแต่พยายามจะโยงไปเรื่องที่ตัวเองต้องการเท่านั้น     ในสมัยพุทธกาลเคยมีเรื่องอย่างนี้เกิดกับพระสารีบุตรเช่นกัน...     จะเห็นความต่างมีอยู่บ้างคือ ในเศรษฐีมีการปฏิเสธ เมื่อมีคนกล่าวว่าเขาเป็นเศรษฐี เนื่องจากเศรษฐีนั้นหากเป็นปุถุชนก็จะเกิดความเป็นตน หนึ่งคือรู้สึกอย่างนั้นจริงๆว่า "เรา" ไม่ได้เป็น สองทำเป็นถ่อม"ตัว"เขาจะได้เห็นว่า"เรา"เป็นคนดี นั่นเป็นเรื่องปรกติกับผู้ที่มีสักกายทิฏฐิ ถ้าไม่ชี้แจงหรือออกตัวในลักษณะปกป้องตัวเอง เดี๋ยว "เขา" จะหาว่า "เรา"..นี่คือปุถุชนแน่นอน     แต่ในพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ไม่มีการยอมรับหรือคัดค้านเนื่องจากเมื่อไม่มีความรู้สึกในความเป็นตัวตนแบบบุคคลเราเขา จึงไม่ได้รู้สึกว่าเขาพูดถึงเรา เราต้องตอบ เราต้องปฏิเสธเพราะเขากำลังกล่าวหาเรา เมื่อไม่มีเราใครจะปกป้องใครกัน หากจะชี้แจงหากควรหรือจำเป็นก็แค่ทำไปเพราะจะเป็นประโยชน์หรือผดุงความถูกต้องไว้เท่านั้น     นี่จึงเป็นความต่างของการปกป้องตัวเองระหว่างปุถุชนและอริยบุคคล แต่ที่อริยบุคคลผู้ยังไม่สามารถละสังโยชน์อย่างละเอียดได้จึงยังมีอัตตาที่จิตยังไม่รู้อริยสัจอย่างแจ่มแจ้งยังมีการยึดขันธ์อยู่จึงยังคงมีอุปาทานในขันธ์๕ แต่นั่นเริ่มเบาบางไปโดยลำดับแล้ว ยิ่งสูงขึ้นไปยิ่งใกล้จะหมดไป จนเกิดสัมมาทิฏฐิรู้อริยสัจแจ่มแจ้งจริงๆในพระอรหันต์ ปล่อยวางความยึดถือจิตลง จึงหมดอุปาทานขันธ์ สัมมาทิฏฐิจึงเป็นเหตุให้เกิดสัมมาญาณเป็นผล จากนั้นสัมมาญาณก็เหตุให้เกิดสัมมาวิมุตติเป็นผล จบกิจจบหน้าที่กันที่ตรงนี้ หมดเหตุเกิดกันที 2012-12-24