สันตติมหาอำมาตย์

10 มิ.ย. 56 / 1480 อ่าน

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อ สมเด็จพระจอมมุนีนาถ บรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ในเขตพระนครสาวัตถี ระหว่างนั้น สันตติมหาอำมาตย์ กลับจากการยกทัพไปปราบปัจจันตชนบท ที่กำเริบ ของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะได้ปูนบำเน็จรางวัลให้แก่แม่ทัพผู้ชนะศึกอย่างเต็มที่แล้ว ยังทรงพระกรุณา พระราชทานราชสมบัติให้แก่สันตติมหาอำมาตย์ได้ครอง ๗ วันอีกด้วย   ตลอดเวลา ๗ วัน ที่สันตติมหาอำมาตย์ได้ครองราชดุจพระราชานั้นเขาได้ใช้ชีวิตสำเริงสำราญอย่างเต็มที่ ทั้งสุรา ทั้งนารี ขับระบำรำฟ้อนถึงวาระวันที่ ๗ อันเป็นวันสุดท้าย สันตติมหาอำมาตย์แต่งตัวด้วยเครื่องทรงของพระราชา นั่งบนคอช้างพระที่นั่งไปสู่ท่าอาบน้ำ เห็นพระบรมศาสดากำลังเสด็จเข้าบิณฑบาตที่ประตูเมือง ก็ผงกศีรษะลงถวายพระบังคม   สมเด็จพระผู้มีพระภาค ทอดพระเนตรสันตติมหาอำมาตย์ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ มักจะเป็นที่เข้าใจกันว่า ทรงเห็นเหตุอันควรปรารภ ซึ่งถ้ากราบทูลถามเหตุ และทรงเล่าประทานก็จะเป็นประโยชน์แก่บรรดาสงฆ์และพุทธบริษัททุกครั้ง ดังในครั้งนั้นก็เช่นเดียวกัน พระอานนท์ จึงขอประทานโอกาส ทูลถาม   ทรงตรัสว่า "อานนท์ เธอจงดูสันตติมหาอำมาตย์...ในวันนี้เองเขาทั้งประดับด้วยเครื่องอลังการแห่งพระราชาเช่นนี้ จักมาสู่สำนักเรา จักบรรลุพระอรหัตตผลในเวลาเรากล่าวคาถาเพียงแค่จบบท ๔ แล้ว เขาจักนั่งบนอากาศสูงชั่ว ๗ ลำตาล และปรินิพาน"   พระดำรัสของพระบรมศาสดาต่อพระอานนท์นี้ ผู้เฝ้าเบื้องพระพักตร์ก็ได้ยินอยู่ ดังนั้นไม่นานนัก ข่าวที่ทรงมีพุทธพยากรณ์จึงแพร่หลายกันไปทั่วเมือง ฝ่ายที่เป็นมิจฉาทิฏฐิยังไม่ยอมศัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ก็ยิ้มสรวล กล่าวเย้ยพุทธองค์ว่า   "เป็นไปได้อย่างไร สันตติมหาอำมาตย์มึนเมาสุราอยู่ปานฉะนี้หลงระเริงในลาภยศ สมบัติที่พระราชาปูนบำเหน็จประทานให้ ทั้งเหล้าทั้งผู้หญิงแวดล้อมอยู่ตลอด ๗ วัน ๗ คืน สันตติมหาอำมาตย์ จักมาฟังธรรมในสำนักสมณโคดม บรรลุอรหัตตผล และนิพพานในวันนี้...! เป็นไปได้อย่างไร ฟังสมณโคดมคุย...! พูดสักแต่ปากเท่านั้น ในวันนี้เราจักจับมุสาวาทสมณโคดมได้...!   ฝ่ายที่เป็นสัมมาทิฐิ ที่เคยเชื่อมั่นเลื่อมใสในพระพุทธองค์อยู่อย่างแน่นแฟ้น แม้ครั้งนี้ก็ยังลังเลใจ ด้วยทุกคนก็เห็นสันตติมหาอำมาตย์ ยังสนุกสนานรื่นเริงกับเหล่าสาวสนมกำนัลที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานมา ทั้งมันเมาในรสสุรานานจนแทบทรงกายและสติไม่อยู่ ที่ถวายบังคมพระพุทธองค์ได้ ก็เพราะเคยกราบเกรงพระบารมีอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ดี เคยรู้อยู่ว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสหนึ่งไม่มีสอง ทรงพยากรณ์เช่นไร ก็จักต้องเป็นเช่นนั้นเสมอมา ครั้งนี้จึงคอยเฝ้าดูเหตุการณ์อย่างสองจิตสองใจ   "เราคอยดูสันตติมหาอำมาตย์กันเถิด" เป็นคำที่ทุกคนก็ดูเหมือนจะนึกใจตรงกันเช่นนั้น ฝ่ายสันตติมหาอำมาตย์ หลังจากที่สนานกาย ณ ท่าอาบน้ำแล้วก็ขึ้นช้างกลับสู่พระราชวัง วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่เขาจะได้ครองราชสมบัติ จึงสั่งให้เพิ่มสุรา เพิ่มระบำฟ้อนให้มากขึ้น ที่มึนเมามาตลอด ๗ วันก็ดูเหมือนจะมึนเมามากขึ้นไปอีก นางระบำที่ร่ายรำ นางนักร้องที่ขับขานแวดล้อมเขามากอยู่แล้ว ก็ดูเหมือนจะฉวัดเฉวียนมากขึ้น   ในบรรดานางระบำและนางนักร้องทั้งหลายนั้น มีอยู่นางหนึ่ง ซึ่งมีรูปโฉมอ้อนแอ้น อรชรงามตาที่สุด ทั้งฉลาดในการฟ้อน ทั้งฉลาดในการขับร้อง ทั้งฉลาดในการปรนนิบัติ นางนั้นเป็นที่รักประดุจดวงใจของสันตติมหาอำมาตย์ เมื่อนางร่ายรำแสดงการฟ้อนการขับร้องอยู่นั้น ได้เกิดเป็นลมล้มลงถึงกาลกิริยาในทันใด   สันตติมหาอำมาตย์ตกใจเป็นอย่างยิ่ง หายเมาไปในทันที แทบไม่ยอมเชื่อว่า การตายของนางนั้นเป็นความจริง เพราะนางยังเพิ่งยิ้มแย้ม ชม้ายชายตาให้เขาอยู่หลัดๆ จู่ๆ ก็ล้มลงสิ้นใจ มีอาการปากอ้า นัยน์ตาที่ยิ้มหยาดเยิ้มนั้นกลับเหลือกลานอย่างน่ากลัว ในฐานะพระราชา สันตติมหาอำมาตย์ได้สั่งให้แพทย์หลวงมาเยียวยา แต่นางก็หาฟื้นคืนชีวิตไม่ เขามีความโศกเศร้าปริเทวนาการ แม้จะเป็นแม่ทัพเคยสังหารข้าศึกศัตรูมามากต่อมาก แต่ก็หาอาจสามารถสังหารความโศก ความทุกข์ที่รัดตรึงใจอันเนื่องมาจากนางอันเป็นที่รักต้องมาตายจากไปอย่างกระทันหันนี้ไม่   เมื่อความทุกข์โศกเข้าครอบงำอย่างแรงกล้า สันตติมหาอำมาตย์ก็นึกขึ้นได้คำที่มหาชนเคยกล่าวกันว่า หากใครมีทุกข์แล้ว พึงไปหาพระบรมครูท่านจะขจัดปัดเป่าทุกข์เทเวษของมวลมนุษย์ให้ได้เสมอ   ดังนั้น ในเย็นวันนั้นเอง สันตติมหาอำมาตย์ในเครื่องทรงพระราชาอันตกแต่งด้วยดีแล้ว แวดล้อมด้วยขบวนพลกายกองเกียรติยศ ก็เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมโลกเชฏฐ์ ณ เชตวันวรมหาวิหาร ถวายบังคมแล้วก็ร้องฟูมฟายคร่ำครวญว่า   "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความโศกเห็นปานฉะนี้ เกิดแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์มาเฝ้าก็ด้วยหมายว่า พระองค์จักอาจดับความโศกของข้าพระองค์นั้นได้ ขอพระองค์ทรงเป็นสรณะที่พึ่งแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด" ลำดับนั้น พระบรมศาสดาตรัสกับสันตติมหาอำมาตย์ด้วยพระกรุณา   "เธอมาสู่สำนักของผู้สามารถดับความโศกได้แน่นอน อันที่จริงน้ำตาที่เธอร้องไห้ในเวลาหญิงนี้ตาย ด้วยเหตุนี้นั่นแล หากรวบรวมน้ำตาแต่ชาติต่างๆ มากกว่าน้ำในมหาสมุทร ทั้ง ๔ เสียอีก ครั้นแล้ว จึงตรัสให้สติด้วยบาทคาถา ทั้ง ๔ มีความว่า   "กิเลสกังวลใด ที่มีมาในอดีต ... วาง เสีย กิเลสกังวลใด ที่จะมีมาในอนาคต ... วาง เสีย กิเลสกังวลใด ในปัจจุบัน ... วาง เสีย ถ้าเธอจักไม่ยึดถือขันธ์ ละวางเสีย จักเป็นผู้สงบระงับ"   ในเวลาที่จบพระคาถาบาทที่ ๔ สันตติมหาอำมาตย์ก็บรรลุพระอรหัตผล เธอพิจารณาดูอายุของตน ทราบว่า ตนจะต้องถึงกาลอายุในขณะนั้น จึงกราบบังคมทูลขอลาปรินิพพานต่อพระพุทธองค์   สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแล้วทรงคำนึงว่า ขณะนี้มีมหาชนต่างมาชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น ส่วนหนึ่ง...เป็นมิจฉาทิฏฐิ มาจับมุสาวาทแห่งเรา ไม่เชื่อคำที่เราว่า สันตติมหาอำมาตย์จักบรรลุอรหัตผลในวันนี้ อีกส่วนหนึ่ง เป็นพวกสัมมาทิฏฐิ มาประชุมกันเพื่อคอยดูว่า การจะเป็นไปเช่นเรากล่าวอย่างไร ถ้าหากมหาชนได้ฟังบุพกรรมที่สันตติมหาอำมาตย์ได้กระทำแล้วจักมีความเลื่อมใสศรัทธาในบุญทั้งหลายยิ่งขึ้น   สันตติมหาอำมาตย์ ทูลรับว่า "ดีละพระเจ้าข้า" ถวายบังคมพระศาสดา แล้วเหาะขึ้นไปบนอากาศ สูงได้ชั่วลำตาลหนึ่ง แล้วลงมาถวายบังคมพระศาสดาอีก แล้วกลับเหาะขึ้นบนอากาศใหม่ ขึ้นไปนั่งโดยบัลลังก์อากาศสูงชั่ว ๗ ลำตาล แล้วจึงประกาศบุพกรรมของตน   "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกัปป์ที่ ๙๑ แต่กัปป์นี้ ครั้งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ข้าพระองค์บังเกิดในตระกูล ๆ หนึ่ง ในพันธุมดีนครมีความเอ็นดูในชนทั้งหลายให้ประกอบกุศลกิจ จึงได้ชักชวนญาติมิตร มหาชนทั้งหลาย ให้ประกอบการบุณย์ ชักชวนให้ถวายทาน ฟังธรรม สมาทานศิล การอยู่อุโบสถ   แน่ะ ท่านทั้งหลาย ชื่อว่ารัตนะอย่างอื่น เช่นกับพุทธรัตนะเป็นต้นไม่มี พวกท่านทั้งหลายจงทำสักการะรัตนะ ทั้ง ๓ เถิด เป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด จงทำบุญทั้งหลาย จงถวายทาน จงฟังธรรม สมาทานศีลอุโบสถกันเถิด"   ผลของการชักชวนมหาชนบำเพ็ญกุศล ทำบุญเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเลื่องลือไปถึงพระราชาผู้ทรงพระนามว่า พันธุมะ และพระพุทธบิดาก็ทรงเลื่อมใสด้วย เห็นด้วย พระราชทานม้าอาชาไนยพร้อมทรงให้ข้าพระองค์เพื่อใช้ในการชักจูงมหาชนไปในการบุณย์   "การบุณย์ยิ่งแพร่หลาย มหาชนเลื่อมใสหนักเข้า พระราชาทรงทราบก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น และพระราชทานยานแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพื่อใช้ในการเที่ยวเกริ่นประกาศการทำบุญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ระยะแรกพระราชทานม้าอาชาไนยพร้อมเครื่องทรงพวงดอกไม้ ต่อมาพระราชทานรถเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ระยะหลังพระราชทานช้างเชือกหนึ่งพร้อมเครื่องประดับใหญ่และโภคสมบัติเป็นจำนวนมาก ข้าพระองค์นั้นให้ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างนั่งบนคอช้าง ข้าพระองค์ได้ปฏิบัติธรรม กระทำกรรมของผู้ป่าวร้องชักชวนมหาชนมาทำบุญ ฟังธรรม สมาทานศีล ถืออุโบสถ สิ้นกาลแปดหมื่นปี กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกายของข้าพระองค์ กลิ่นอุบลออกจากปากตลอดกาลเหล่านั้น" "นี้เป็นกรรมที่ข้าพระองค์กระทำแล้ว พระเจ้าข้า"   สันตติมหาอำมาตย์นั้น ครั้นกราบทูลบุพกรรมของตนอย่างนั้นแล้วกราบบังคมลาพระบรมศาสดาอีกครั้งหนึ่ง แล้วเตโชธาตุ ปรินิพพานบนกลางอากาศนั้นเอง เปลวไฟบังเกิดขึ้นในสรีระ ไหม้เนื้อและโลหิตแล้วปรากฎเป็นธาตุดั่งดอกมะลิตูมเหลืออยู่   อ่านแล้วเห็นประเด็นอะไรบ้าง?  
  1. ใช้กำลังกายของตนชักชวน เชิญชวนผู้คนเข้าสู่พระรัตนตรัยเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่
  2. ถึงแม้จะเสพสุรา มัวเมาอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่ธรรมก็สามารถเห็นธรรมได้และจะไม่ย้อนกลับไปทางเสื่อมอีก
  3. เมื่อใดที่ประสบกับความทุกข์ ผู้มีปัญญาจะเข้าหาธรรมแทนการใช้อบายมุขเป็นทางออก
  เพียง 3 ข้อนี้หากได้จากเนื้อเรื่องนี้แล้วเกิดเป็นกำลังใจ ทำอย่างจริงจัง จะเกิดอานิสงส์อย่างแน่นอน 2013-06-10