ฉันมีสิทธิ เขาทำครอบครัวฉัน

30 ส.ค. 56 / 2039 อ่าน

ถ้าท่านเป็นพ่อ แม่ พี่หรือน้องของใคร ซึ่งมีคนมาสู่ขอลูกสาวหรือคนในครอบครัวไปเพื่อแต่งงานด้วย จากนั้นเขาไปบวช ปล่อยให้ลูกสาวหรือคนในครอบครัวของท่านที่เขามาสู่ขอไปแต่งงานด้วย ต้องอยู่คนเดียว ว้าเหว่ เศร้าโศกอย่างพระนางพิมพา ท่านจะโกรธไหม? ท่านคงจะไปต่อว่าเขาด้วยถูกไหม? ท่านอาจจะผูกใจเจ็บ อาฆาตไม่เผาผีเลยก็ได้ หรือหากเจอหน้าคราครั้งใดคงต้องเข้าไปต่อว่าหรือหาทางกลั่นแกล้งเพื่อให้มันสาแก่ใจที่ทำกับคนรักของฉัน ท่านรู้สึกว่าท่านมีความชอบธรรมที่จะทำอย่างนั้นได้ เพราะคนๆ นั้นทำกับ "ครอบครัวของกู"   เรามาดูความจริงที่เราคิดเอาเองว่าเรารู้กันหน่อย แน่ใจหรือว่า "เรา" มีสิทธิ   ในสมัยพุทธกาล สุปปะพุทธะ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเทวทัตและพระนางยโสธราพิมพา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง เมื่อรู้ว่าพระเทวทัตถูกธรณีสูบเพราะจองล้างจองผลาญพระพุทธองค์ แทนที่สุปปะพุทธะจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ กลับมีจิตโกรธแค้นอาฆาต ทั้งยังโกรธแค้นเจ้าชายสิทธัตถะที่ทอดทิ้งธิดาของตนออกผนวช จึงนำอำมาตย์ข้าราชบริพารไปนั่งดื่มสุรา ขวางทางที่พระพุทธองค์จะออกโปรดเวไนยสัตว์ ทำให้พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไม่ได้เพราะมีทางออกอยู่ทางเดียว ถึงกับต้องอดพระกระยาหารไป 1 วัน   เมื่อพระอานนท์ทูลถามถึงความผิดของสุปปะพุทธะที่กระทำเช่นนั้น พระพุทธองค์ซึ่งทราบด้วยญาณ จึงตรัสว่า   “ดูก่อนอานนท์ หลังจากนี้ไปได้เจ็ดวัน สุปปะพุทธะจะลงอเวจีตามเทวทัตไป”   เมื่อสุปปะพุทธะทราบถึงพุทธดำรัส จึงขึ้นไปประทับบนชั้น 7 ของปราสาท ทั้งยังให้นายทวารคอยขัดขวางไว้ไม่ให้พระองค์ออกจากปราสาทใน 7 วัน   สุปปะพุทธะประทับอยู่ในปราสาทชั้น 7 จนถึงวันที่ 7 ก็ได้ยินเสียงม้าแก้ว ซึ่งเป็นม้าที่ทรงโปรดร้องก้อง ด้วยความเป็นห่วงม้า สุปปะพุทธะจึงวิ่งลงมา เหล่านายทวารก็คิดว่าครบ 7 วันตามกำหนดแล้ว จึงไม่มีผู้ใดขัดขวางไว้   พอสุปปะพุทธะก้าวพ้นปราสาท เหยียบพระบาทลงบนพื้น ธรณีก็เปิดออก สูบสุปปะพุทธะลงสู่ขุมนรกอเวจีตามพุทธดำรัส...   ถ้า สุปปพุทธะ คิดถูกอย่างที่ผู้คนทั่วไปเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ชอบธรรม เช่นฉันทำกับเขาได้เพราะเขาทำคนในครอบครัวของฉัน และเราเองก็ยังคงสงสัยไม่เข้าใจว่าสุปปพุทธะผิดยังไง เพราะเขาทำเพื่อครอบครัวของเขา นั่นแสดงว่าเราเองไม่เข้าใจ กุศล อกุศล สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา   หรือเรามัวแต่คิดว่าเพราะสุปปพุทธะทำกับพระพุทธเจ้านั่นจึงผิด เพราะพระองค์เป็นผู้มีบุญญาธิการ การขวางพระองค์ซึ่งกำลังจะไปโปรดสัตว์เป็นกรรมหนัก ใช่..ความคิดอย่างนั้นไม่ผิดแน่นอน แต่ก็จะเข้าไปไม่ถึงต้นตอของการกระทำอยู่ดี   แต่จุดเริ่มต้นที่สุปปพุทธะทำสิ่งนี้ลงไป มันเริ่มจากความรู้สึกที่เขียนเอาไว้ที่ตอนแรกใช่ไหม ถึงได้ลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ลงไป เราเองหากอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน เราก็อาจคิดหรือกระทำไม่ต่างออกไปเท่าไหร่ เพราะเราเองก็อยู่ในความคิดปรุงแต่ง เพียงแต่คนที่เรากระทำนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า นั่นไม่ได้แปลว่าไม่ส่งผล เพียงแต่ผลจะรุนแรงน้อยกว่า จากจิตอาฆาตอกุศลของเราเอง   แปลว่าเราจะจัดการทำอะไรให้กับครอบครัวเราไม่ได้เลยหรือ? ได้แน่นอนเพราะวิบากกรรมทั้งหมดมันมาจากความอาฆาต อกุศลของเราเองต่างหาก และการกระทำที่เป็นอกุศลนั้นยิ่งส่งผลรุนแรงเพราะไปกระทำต่อบุคคลที่เป็นเนื้อนาบุญของโลกด้วย นั่นจึงส่งผลเป็นกรรมหนัก แต่อย่าลืมว่าที่เราคิดเอาเองว่าพระนางไม่สมควรต้องถูกทอดทิ้งอย่างนี้ ในที่สุดพระนางพิมพาบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นะจากการที่เสด็จออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะนะ   ด้วยความไม่เข้าใจ ผู้คนทั้งหลายจึงสร้างกรรมไม่เคยหยุดหย่อน และหากเป็นสิ่งที่เรากระทำลงไปด้วยความรู้สึกแบบเดียวกับสุปปพุทธะ เชื่อเถอะว่าจะมีเสียงภายในมาคอยหาเหตุผลปกป้องตัวเองเสมอ ในสิ่งที่จะกระทำหรือได้กระทำลงไปแล้ว นั่นอาจทำให้เรารู้สึกว่าเราทำถูก แต่ความจริงไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความรู้สึกของใครทั้งสิ้น   ดังนั้นสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นถูกจะเกิดได้อย่าง ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริงได้   ปฏิบัติธรรม..ฟังธรรม กันเถอะ อย่ามัวแต่คิดอยู่เลย   2013-08-30