พระโสดาบันละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

14 มิ.ย. 56 / 7551 อ่าน

เราได้ยินคำสอนในการละสังโยชน์ของพระโสดาบันว่า พระโสดาบันเป็นผู้ละ   ๑. สักกายทิฏฐิ อันนี้แน่นอนต้องละความเห็นผิดในความเป็นตัวตน ซึ่งตรงนี้เป็นของหยาบๆที่มีอยู่อย่างเข้มข้นในปุถุชน และเบาบางลงในกัลยาณชนผู้ใฝ่ในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนเริ่มละความเห็นผิดได้เป็นขณะๆ ซึ่งจะพาไปสู่การละความเห็นผิดได้ในที่สุด   ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เน้นไปที่ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย บางคนก็งงๆว่าหากเรามีความลังเลสงสัย มันไม่ดีอย่างไร ความลังเลสงสัยหลายครั้งมันทำให้เราไม่หลงไปเชื่ออะไรง่ายๆ ตามคำบอกกล่าวของใครๆ เช่น มีใครมาหลอกลวงหรือแม้แต่ไม่หลอกลวง เพราะเขาคิดว่าคำสอนอย่างนั้นถูก คำสอนนี้ไม่ถูก เพราะในสำนักมากมายเราไปที่ไหนก็ได้ยินกันแต่เรื่องว่าต้องแบบนี้ถึงจะถูก ต้องทำแบบนี้เท่านั้น การลังเลสงสัยทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ดีหรือ?   ถ้ามองในด้านนี้ดีแน่เพราะนั่นเป็นการโยนิโสมนสิการ เพื่อจะพิจารณาโดยแยบคายให้เห็นความจริงด้วยตนเอง เชื่อเถอะใครๆก็ว่าตนเองถูกทั้งนั้นล่ะ ถ้าเขาว่าเขาไม่ถูกเขาจะทำอยู่อย่างนั้นหรือ ?   แต่ความลังเลสงสัยในสังโยชน์ข้อนี้มุ่งไปที่ความลังเลในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เนื่องจากพระโสดาบันนั้นก็คือผู้ที่เข้ามาสู่การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์๘ เกิดการชำระกิเลสมาโดยลำดับ จนเห็นด้วยตนเองว่าทุกข์ทั้งหลายเริ่มบางเบาลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเรื่องทั้งหมดทั้งสิ้นอยู่ที่ทุกข์ เมื่อความทุกข์ลดลง จิตใจตั้งมั่นขึ้นก็เริ่มเห็นความจริงตามความเป็นจริง จนเห็นด้วยตนเองว่า ตัวเรา ของเราที่เข้าใจผิดมาตลอด ด้วยการหลงสร้างตัวตนนั้น ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงความรู้สึกที่ถูกสร้างด้วยความไม่รู้ เมื่อใครก็ตามที่ถึงจุดนี้ เราสามารถจินตนาการได้เองเลยว่า เขาจะหมดข้อสงสัยในพระธรรมแน่ๆ เพราะการปฏิบัติตามธรรมนั้นได้นำพาเขาเข้าสู่ความพ้นทุกข์ได้ และเขาจะรู้ได้ด้วยตนเองโดยอัตโนมัติว่าจะมีพระธรรมคำสั่งสอนได้อย่างไร หากไม่มีปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หลักคิดซึ่งเป็นตรรกะของเหตุและผลนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเกิดในอริยบุคคล แล้วการพ้นทุกข์ก็ได้เกิดขึ้นจริงๆในบุคคลผู้ปฏิบัติตามพระธรรมนั้น   ตรงนี้จะทำให้ผู้ที่เข้าไปสัมผัส เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยฟังคำพรรณนาจากผู้ใดอีก นี่จึงเป็นที่มาว่า พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่า เธอว่าใครในที่นี้เป็นพระโสดาบัน พระสารีบุตรทูลตอบว่า ข้าพระองค์คิดว่า ผู้ที่เจริญอริมรรคมีองค์๘ นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน เพราะในโสดาปฏิยางค๔ นั่นบอกถึงลักษณะของโสดาบันอย่างชัดเจนว่า   ข้อ ๑-๓ เป็นผู้เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อันหยั่งลงมั่น เพราะท่านได้เห็นแล้วด้วยตนเอง นี้จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นในใจของอริยบุคคลทั้งหลายซึ่งพระองค์ทรงทราบดี ไม่ใช่การเคารพตามๆกันมา ส่วนโสดาปฏิยางค๔ ข้อที่ ๔ นั่นเป็นผู้มีศีลไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิ นี้เกิดจากเจริญมรรคในข้อ ๑, ๒ จนเกิดปัญญา มีศีลด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดว่าถือศีลแล้วจะดี จะพาไปสวรรค์ นั่นยังลูบคลำด้วยทิฏฐิ ดังนั้น โสดาปฏิยางค๔ จึงเป็นผลที่เกิดอย่างแน่นอนในพระอริยบุคคลทุกระดับ   หากปฏิบัติจนรู้สึกว่า "ตัวเองหลุดพ้น" แต่ยังลังเลในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่ นี่จะใช่คำพระพุทธเจ้าจริงหรือ? อริยมรรคน่าจะผิดมั้ง? เพราะที่ "ฉัน" บรรลุมามันไม่ใช่อย่างนี้นี่? ถ้าอย่างนี้จะต้องจ้างกรรมการคนนอกมาดูแล้วมั้งว่า ระหว่าง สาวก กับ พระพุทธเจ้า ใครน่าจะผิด หากผิดจริง วันนี้จะไม่มีพระอรหันต์เลยแม้แต่องค์เดียวเลยนะ เพราะนี่ผ่านมาแล้ว 2,600 ปี หรือว่าคนที่ว่าอย่างนั้นท่านเป็นพระอรหันต์ ? ด้วยการตรัสรู้ชอบได้โดยตนเองหรือ?   ดังนั้นวิจิกิจฉาจึงไม่ใช่แค่ข้อสงสัยรายวัน หรือสงสัยเรื่องโลกๆเช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อย่างนั้น แต่เป็นการลังเลในพระรัตนตรัย   ส่วนข้อ ๓. คือ สีลพตรปรามาส?คือสิ่งที่ทำตามๆกัน มีความเชื่อว่าทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนั้นจะพ้นทุกข์ เหล่านี้จะหมดไปจากใจของผู้ที่เห็นความจริงแล้ว เพราะในผู้ที่เห็นความจริงจะเห็นว่า จะทำอะไร อย่างไร แค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ขันธ์อันมีสภาพทุกข์นี้เป็นสุขขึ้นมาได้ ก็ดูแลไปเท่าที่จะทำได้เพราะมันมีแต่ทรุด อย่าว่าทรงเลย จะปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีให้บรรเจิด จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเบอร์ เปลี่ยนทิศสักแค่ไหน ขันธ์ก็ไม่เคยพ้นจากสภาพทุกข์ไปได้ จะมีก็เพียงปฏิบัติไปสู่การวางอุปาทานในขันธ์เท่านั้นเอง นั่นจึงจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ดังนั้นจินตนาการเองก็คงได้ว่า คงไม่ใครคิดจะทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆเลยแม้แต่น้อยให้เสียเวลาเช่นการบ้วนน้ำลายใส่ที่ทำน้ำแข็งแล้วเอาไปแช่ช่องฟรีซมากิน   นี้เป็นสังโยชน์ ๓ ข้อในสังโยชน์ ๑๐ ที่ละได้ในพระโสดาบัน   2013-06-14