โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

3 มี.ค. 54 / 1176 อ่าน

หากไม่มีการสอนกันมาอย่างจริงจัง อย่างเป็นระบบและพิสูจน์ให้ได้เห็นจริงๆ ท่านคิดว่าท่านจะเชื่อไหมว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ลองดูดีๆนะว่า ถ้าเราเกิดมาแล้วไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เลย ลองสังเกตดูพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วก็วนสูงขึ้นไปตกลงอีกด้านหนึ่งคือทิศตะวันตก เช้าวันต่อมาก็เอาอีก ทุกวันๆก็ซ้ำกันทุกวัน เมื่อเราเห็นจริงๆตามนี้ ถามจริงๆเถอะว่า พระอาทิตย์หมุนรอบโลกไม่ใช่หรือ? พระอาทิตย์หมุนรอบโลกรอบหนึ่งใช้เวลา 24 ชั่วโมง นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วย ใครบอกเราว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์นะ คุณเข้าใจผิด คุณจะเชื่อหรือ? ของเห็นอยู่โจ้งๆว่าดวงอาทิตย์ต่างหากที่หมุนรอบโลก ใครนะช่างเก่งจริงๆ ที่ออกไปจากความคิดนี้ได้ หลุดจากการเอาความคิดกูเป็นตัวตั้ง เขาต้องเอะใจอะไรบางอย่างจึงเปลี่ยนวิธีคิดที่จะเอาเราเป็นศูนย์กลาง จึงพบว่า โลกนี้แค่จิ๋วๆเท่านั้นเอง เป็นเพียงแค่เศษดาวหมุนรอบดวงอาทิตย์ อย่าให้ "กู" เป็นศูนย์กลางของจักรวาลนะ ไม่ว่าสามี ลูก เพื่อน ผู้ร่วมงานต้องหมุนรอบ "กู" ล่ะ จริงๆแล้ว ดาวแต่ละดวงแม้นพระอาทิตย์เองต่างก็ทำหน้าที่ของตน ต่างพยายามรักษาสมดุลย์ของตนของตนเท่านั้นเอง การพยายามรักษาสมดุลย์ให้เสถียรนี่ล่ะที่เป็นทุกข์ เมื่อพระอาทิตย์เปลี่ยนแปลง(ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา) ก็จะส่งผลต่อดวงดาวทั้งหลายก็ต้องเปลี่ยนแปลงรักษาสมดุลย์ใหม่เรื่อยๆ นี่ก็เรียกทุกขัง ความจริงแม้โลกหรือดวงจันทร์เปลี่ยนก็ส่งผลต่อจักรวาลเช่นกัน เมื่อคนเปลี่ยนเลวลงหรือดีขึ้นก็ส่งผลต่อโลกต่อจักรวาลทั้งหมด สิ่งแวดล้อมในโลกก็เปลี่ยนแปลงตาม ปัจจัยที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอด ตัดช่วงให้ดูง่ายๆ พออุณหภูมิร้อนขึ้นจากปัจจัยเยอะแยะอย่างที่รู้ก็คือ น้ำทะเลและแม่น้ำทั้งหลายระเหยมากขึ้นทั่วโลก เมื่อไอน้ำในอากาศมากขึ้น พลังงานในอากาศจะเปลี่ยนแปลงบีบคั้น มันต้องพยายามรักษาสมดุลย์ใหม่ เกิดการปลดปล่อยเพื่อเข้าสมดุลย์ใหม่จึงเกิดเป็นพายุ เป็นฝน เป็นฟ้าผ่า ฝนจำนวนมหาศาลจึงเกิดขึ้น ด้วยความที่โลกเองก็หมุน สภาพนี้จึงกระทบกันไปจากภูมิภาคสู่อีกภูมิภาค ทุกแห่งหนจึงแปรปรวนไป เพราะต้องปรับสมดุลย์ใหม่ ทุกข์นะสภาพนี้ แล้วการเปลี่ยนอุณหภูมินั้นไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะน้ำนะ มันเปลี่ยนทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้อง นั่นคือการกระทบที่จะเป็นเหตุในด้านอื่นไปหมด เราชอบคิดว่าทุกข์คือความรู้สึก เราจึงไม่เข้าใจว่ารูปนามนั้นเป็นสภาพทุกข์(ทุกขัง) แต่ด้วยความที่รูปนามพัฒนาตนจนเกิดมีวิญญาณการรับรู้ จึงเกิดมีผู้ทุกข์ขึ้น จากสภาพทุกข์เริ่มมีผู้ทุกข์ จนมาถึงเราเองก็เป็นผลจึงเป็นทุกข์ในวันนี้ ดังนั้นเมื่อรู้แจ้งแล้วจะเห็นว่ารูป นามเป็นสภาพทุกข์ ขันธ์5เป็นสภาพทุกข์ ส่วนผู้ทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากความไม่รู้ เลยทุกข์กันใหญ่เลย(ความรู้สึกทุกข์จึงไปสร้างผู้ทุกข์ เมื่อมีผู้ทุกข์ก็เลยทุกข์ ทุกข์เลยไปสร้างผู้ทุกข์...) พอทุกข์ก็ดิ้นหนีไปหาสุข ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะโง่ซ้ำ ไปเห็นสุขเป็นตัวเป็นตนจึงยึดถือเข้าให้ เลยทุกข์เบิ้ลเลย พอเข้าใจสภาพทุกข์เพราะรูปนามทั้งโลก ทั้งจักรวาล ไม่ว่าจะมีวิญญาณการรับรู้เช่นคน สัตว์ เทวดา เปรตฯลฯหรือโต๊ะ เก้าอี้ โลก ดวงจันทร์นั้นล้วนพยายามปรับตัวเข้าสู่สมดุลย์ แต่ไม่เคยมีจุดสมดุลย์นั้นเลย เพราะปัจจัยมันมาก พอกำลังจะพอดีก็มีเหตุอื่นมากระทบหรือเปลี่ยนไปอีก ก็ปรับใหม่อีก กำลังจะปรับได้เหตุปัจจัยก็เปลี่ยนอีก ทุกข์นะแบบนี้นึกออกรึยัง วันนี้ชีวิตกำลังจะนิ่ง รายได้กำลังจะพอดี น้ำท่วมซะอีก พอน้ำท่วมเงินสำรองก็ต้องเอาออกมาใช้(ถ้ามีก็ดี ไม่มีก็กู้อีก..กู้ไม่ใช่กู แต่ก็กูกู้นั่นแหละ) พอเอามาใช้ ก็ต้องปรับด้วยการรัดเข็มขัด รัดแล้วก็ไม่พอ ธุรกิจเริ่มไม่ดีขายของไม่ได้ ต้องปรับต่อ เอารถไปขายให้มันเล็กลง ....มันจะเปลี่ยนไปไม่มีหยุดตลอดเวลา ร้ายจนสุดเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นดีขึ้น เพราะมันเป็นหลักการของธรรมชาติเพราะพอลดจนถึงที่สุดแล้วต้องดิ้นรนขยัน มากกว่าเดิมไม่งั้นอยู่ไม่ได้ (นี่ก็สภาพทุกข์) ทำงานมากขึ้น กินน้อยลง ใช้น้อยลงทำไมมันจะไม่รวยล่ะ พอรวยสักพักลูกก็เริ่มมีกิน มีใช้ก็หลงระเริงอีก เราเองก็หลงระเริงเช่นกัน สักพักก็เข้าสู่สมดุลย์ใหม่ใช้เงินมากขึ้น สร้างหนี้มากขึ้น จนมาเป็นอย่างวันนี้อีก แล้วก็เดี๋ยวลงอีก วัฏฏะนี้อาจเห็นในชั่วชีวิตเดียวหรือข้ามหลายชีวิตก็แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ไม่รู้หรอกว่ามันจะเปลี่ยนไปอย่างไรเพราะเหตุปัจจัยมันมากเหลือเกิน หากใครเห็นอย่างนี้จะปล่อยความยึดถือ เพราะมันไม่มีตัวตน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าใจก็จะสร้างเหตุที่ดีตลอดเวลา แต่ก็ยอมรับในผลที่จะเกิดขึ้น เห็นสภาพทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์กับมัน เห็นอนิจจังไหม? เห็นอนัตตาไหม? ดูมุมไหนก็ได้ ไตรลักษณ์เป็นกฎของรูปนามหรือทุกรูปนามเป็นอย่างนี้เอง รูปนามอยู่ภายใต้กฎหรือว่ากฎนี้ใช้อธิบายเพื่อให้เข้าใจรูปนาม พระพุทธเจ้าจึงนำมาบอกเพื่อให้เราได้ สังเกต จะได้ไม่คิดว่า...กูใหญ่ที่สุด เพราะถ้าเห็นไตรลักษณ์ในรูปนาม จะเข้าใจความจริงของพระธรรมเมื่อ "ปล่อยวาง"