เกิดปัญญา จากไตรลักษณ์

3 มี.ค. 54 / 1235 อ่าน

ปัญญา ศีล สมาธิ คือ ไตรสิกขา ย่อจากมรรคมีองค์๘   ปัญญารู้แจ้ง ปล่อยวางความยึดถือ จะรู้แจ้งได้ มาจากสมาธิคือจิตตั้งมั่น สมาธิจะมีได้จิตต้องไม่ทุกข์ทุรนทุรายจากนิวรณ์๕ เพราะอกุศลเป็นเหตุ อกุศลจะลดลงได้จากการมีศีลและการฝึกกายและจิตให้พรากจากกาม ไม่มุ่งร้ายไม่เบียดเบียนผู้อื่น   วันนี้จะมาดูกันในส่วน สมาธิ ซึ่งในไตรสิกขา ส่วนนี้ประกอบด้วย มรรคข้อ ๖? ๗? ๘   มรรคองค์ที่๖ สัมมาวายามะ ความเพียรอันถูกต้อง เพียร ระวังไม่ให้อกุศลเกิดในใจ เพียรละอกุศลที่เกิดในใจ เพียรเจริญกุศล เพียรเจริญกุศลที่เกิดมีแล้วให้ยิ่งๆขึ้น ส่วนนี้ฝึกให้มากใจจะเป็นสุขสงบขึ้น กุศลเกิดมากขึ้น อกุศลลดลง จิตจะเคยคุ้นในการอยู่กับกุศล เมื่อถึงจุดหนึ่งจะทำบาปไม่ได้อีก   มรรคองค์ที่๗ สัมมาสติ ความระลึกชอบ เห็นว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา จึงถอนความพอใจและความไม่พอใจในสรรพสิ่งจนงวดเข้ามาถึงขันธ์ จนงวดเข้ามาถึงปล่อยวางจิตลงได้   มรรคองค์ที่๘ สัมมาสมาธิ ฝึกให้จิตตั้งมั่น จากอานาปนสติ สมาธิ กายคตาสติ หากผู้ที่ต้องการหลุดพ้นตามคำพระศาสดา ด้วยการเจริญมรรค ในส่วนสมาธิคือมรรคทั้ง๓องค์นี้ ในไตรสิกขานี้ จะต้องทำผสมผสานกันไปจึงจะพบความจริง   หากแยกกันทำเช่น ทำแต่สมาธิ ก็จะติดสงบ เพราะไม่เห็นว่า สงบเองก็เกิดดับ หากละอกุศล อย่างเดียว ก็ไล่ล่าหาสุขเข้ามาเติมกลบเกลื่อนความทุกข์ เกลียดอกุศล หลงไหลในกุศลเกิดตัวตนในกุศล ทุกข์กับการแบกหามกุศลไว้ หากเจริญแต่สติปัฏฐาน๔อย่างเดียว จะกลายเป็นไปเจริญอกุศลได้ง่ายๆ แถมใจจะเป็นทุกข์ ยิ่งปฏิบัติกลับยิ่งทุกข์ เห็นทุกข์เกิดดับแต่ไม่เกิดปัญญาปล่อยวางหลุดพ้นได้ ดูเหมือนมีปัญญาแต่ไม่สามารถหลุดพ้น   เหมือนเด็กเล่นเกมเห็นการเกิดดับของอารมณ์บีบคั้นในใจ เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ บางทีพอใจก็หลงไปว่าเพราะเกมนี่ล่ะทำให้เกิดกุศลคือสบายใจ ไม่เกิดปัญญารู้แจ้งว่า ติดเกมอยู่นะ รู้ทุกอย่างแต่กลับไม่เห็นว่า "กูติดเกม" กลับเห็นทุกข์เป็นสุขไปเสียนี่ ไม่เกิดเบื่อหน่ายในเกมไม่เห็นโทษของเกม เล่มเกมไปเรื่อยๆโดยหลงบอกว่าปฏิบัติธรรมอยู่ นี่จึงเป็นปัญญาแบบเด็กติดเกม หวังว่าจะอาศัยเกมไปจนนิพพาน ไม่เห็นอริยสัจข้อที่๑ คือทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ทุกเป็นสิ่งที่ควรรู้(จัก..ไม่ใช่รู้ตาม) เมื่อไม่รู้(จัก) จะละได้อย่างไร   ในสมาธิของไตรสิกขานี้เป็นการรวมกำลังของสัมมาวายามะด้วยการ ละอกุศล เจริญกุศล การเจริญกุศลด้วยอานาปานสติ กายคตาสติ เป็นสัมมาสมาธิจิตจะตั้งมั่นมาก จนเจริญสติปฏฐาน๔เป็นสัมมาสติ จะเห็นลักษณะ๓คือ   อนิจจัง ความแปรเปลี่ยนไปตามสิ่งกระทบ และการพยายามรักษาสภาพ หรือรักษาสมดุลย์ในรูปนามนั้นแต่ทำไม่ได้ สภาพเปลี่ยนแปลงนั้นเพราะพยายามรักษาสมดุลย์แต่ทำไม่ได้จึงเป็นสภาพทุกข์และเมื่อจิตไปยึดถือสภาพทุกข์จึงมีผู้ทุกข์เป็น "กู"ทันที เป็นสภาพ ทุกขัง ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากเหตุปัจจัยมาก มายที่แปรไป เพราะสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น นั่นไม่ได้มีตัวตนอะไร เป็นเพียงสภาพหนึ่งๆเท่านั้นนั่นเป็น อนัตตา จึงถอนความพอใจและความไม่พอใจในขันธ์๕ ในจิตนี้ได้   มรรคทั้ง๓ ในส่วนนี้จึงทำให้เกิดปัญญา ปล่อยวางความเห็นผิด เข้าสู่ความเห็นถูก เมื่อเห็นทุกอย่างถูกต้องจนถึงที่สุด จึงสัมมาญาณ และ สัมมาวิมุติไม่เวียนกลับอีกเมื่อปล่อยวางสิ่งเป็นทุกข์ทั้งปวงได้ นั่นจึงเป็น บรมสุขอย่างยิ่ง   หมายเหตุ กรณีการรู้นั้น การรู้ตามอารมณ์เป็นการสร้างภพ พระองค์ตรัสว่าภพแม้นเพียงลัดนิ้วมือก็น่ารังเกียจดุจมูตรคูถ ในอานาปานสตินั้นจิตเดินในเวทนา จิต ธรรม จากความตั้งมั่นที่อาศัยกายลม เมื่อจิตตั้งมั่นจะเห็นว่า กายเวทนาจิตธรรมล้วนเกิดดับ เป็นอนัตตา จึงไปสู่การปล่อยวาง ในเวลาปรกติที่จิตไม่ทรงฌาน พระองค์ทรงสอนให้ใช้กายคตาสติ อานาปานสติเป็นเครื่องอยู่ จิตจะเกิดเป็นสมาธิ เป็นการเจริญความหยุด จิตจะอยู่กับอุเบกขา   ดังนั้นเมื่อเกิดอกุศลควรละให้ไว แล้วเจริญกุศล วันหนึ่งจะหมดเจตนาในการละจิตจะทำงานได้โดยสัญญา สอนสิ่งที่เป็นสัมมา อย่าให้จิตเดินอยู่ในมิจฉา