ผู้คุ้มกฎ

4 ม.ค. 55 / 1178 อ่าน

พระราชาสั่งตัดหัวโจรผู้ใจบาป ผิดไหม? ผู้พิพากษาตัดสินประหารหรือจองจำนักโทษบาปไหม? ครูตีนักเรียนเพราะขโมยเงินเพื่อน บาปไหม? ผู้จัดการฝ่ายบุคคลไล่พนักงานที่โกงเงินบริษัทออก บาปไหม? ดูตามนี้เผินๆก็ไม่น่าจะบาปอะไร เพราะแต่ละคนก็ทำตามหน้าที่ ซึ่งหลายคนที่เข้าใจเรื่องของกฏแห่งกรรมและวัฏฏะ๓ เรื่องเจตนาเป็นตัวกรรมและกิเลสเป็นตัวชักนำให้เกิดการกระทำกรรม ต้องรับวิบาก ก็จะเข้าใจได้ว่าไม่ผิด ในความจริงที่เข้าใจได้ง่ายๆกว่านั้น ก็คือ เรามักไปมองการกระทำของฝ่าย พระราชา, ผู้พิพากษา, ครู, ผู้จัดการฝ่ายบุคคล แต่ฝ่ายเดียว เราไม่ได้มองฝ่ายผู้กระทำผิด นี่จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปแล้วโยนความผิดไปทางฝ่ายผู้ตัดสิน พระราชาจะตัดหัวใครไหมถ้าไม่ทำผิด? ผู้พิพากษาจะตัดสินใครไหมถ้าคนนั้นไม่ทำผิด? ครูจะตีไหมถ้านักเรียนไม่ทำผิด? ผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะไล่ใครออกไหมถ้าเขาไม่ทำผิด? นี่ล่ะที่เป็นคำตอบ...การถูกลงโทษของใครๆนั้นเพราะเขาทำมันเอง คนทั้งหมดที่ช่วยให้กฎเป็นกฏตามที่ สังคมตกลงกันไว้เพื่อให้เกิดความสันติสุขนั้น เป็นการกระทำเพื่อความผาสุขของสังคมหมู่กลุ่ม ดังนั้นหากผู้คุ้มกฎทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา สังคมนั้นๆจะสงบเย็น บุคคลเหล่านี้นอกจากจะไม่ผิดแล้ว กลับจะเป็นที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูอีกด้วย หากเขาทำหน้าที่ลำเอียงหรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางให้คุณให้โทษเพราะมีอคติต่อผู้ใด นั่นถือเป็นกรรมอย่างแน่นอน เพราะ มีความโลภอยากให้พวกพ้องได้ประโยชน์หรือทำร้ายฝ่ายอื่นให้เสียประโยชน์ หรือหากมีโทสะประกอบเช่นโกรธคนนั้นคนนี้แล้วใช้ความได้เปรียบในตำแหน่ง หน้าที่ให้โทษคนที่เราเกลียด นั่นเป็นกรรมซึ่งต้องรับผลเป็นวิบากอย่างแน่นอน ดังนั้น อีกคำหนึ่งที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอสำหรับนักปฏิบัติคือคำว่า "ปล่อยวาง" หาก มีผู้กระทำผิดแล้วผู้คุ้มกฏปล่อยปละละเลยแล้วมาอ้างคำว่า "ปล่อยวาง" ผู้คุ้มกฎนั่นล่ะที่กระทำด้วยโมหะ นั่นจะส่งผลต่อสังคม องค์กรต่อไปในอนาคต เป็นกรรมเพราะมีความหลงในการตัดสินใจ ยกเว้นกระทำด้วยความเมตตา กรุณานั่นยังประกอบด้วยสติอาจเรียกมาชี้แจงความผิด ให้โอกาสปรับปรุง ลดหย่อนอย่างมีหลักเกณฑ์ ไม่ใช้อารมณ์ อย่างนี้ต่างหากที่สมควรเชิดชู ผู้คุ้มกฎ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมแล้วทุกคนจะอยู่เป็นสุข ดูดีๆนะว่าเราทุกคนเป็นผู้คุ้มกฎในชีวิตเกือบตลอดเวลา