อะไรเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา

4 มี.ค. 55 / 2576 อ่าน

พราหมณ์ ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระโคดมผู้เจริญพวกสมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารณ์มีคนรู้จัก มาก มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ อันชนหมู่มากเข้าใจกันว่าเป็นคนดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือว่าไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเลยพราหมณ์! ข้อที่สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้นรู้แจ้งเห็นจริงตามที่ตนปฏิญญาไว้หรือไม่นั้น จงยกไว้(ไม่เอามาเป็นสาระ) เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังให้ดีเถิด เมื่อพราหมณ์ทูลรับคำแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์! มีข้ออุปมาว่า บุรุษ ผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ ละเลยแก่น กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไม้เสีย แต่ตัดเอากิ่งและใบไม้ไป?สำคัญว่าเป็นแก่น คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้า ก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ทั้งจะไม่ได้ประโยชน์จากกิ่งและใบไม้นั้นด้วย มีอุปมาอื่นอีก บุรุษต้องการแก่นไม้ แต่ถากสะเก็ดไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นหรือถากเปลือกไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากกะพี้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ก็จะพึงถูกหาว่าไม่รู้จักแก่นไม้เป็นต้น และไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่ถากไปแล้วเช่นกัน อีกอุปมาหนึ่ง บุรุษต้องการหาแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไปไปด้วยรู้จักแก่นไม้ คน ที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็พึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ต้องการแก่นไม้ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ ทั้งจะได้รับประโยชน์จากแก่นไม้นั้นด้วย (จากนั้นเป็นพุทธพจน์ซึ่งกล่าวต่อไปเป็นการเปรียบเทียบขยายความจนมาสรุปลงที่พุทธพจน์ว่า) ด้วยประการฉะนี้แหละพราหมณ์ พรหมจรรย์ นี้มิใช่มีลาภสักการะชื่อเสียงเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่มีความหลุดพ้นแห่งใจเป็นอานิสงส์อันไม่กลับกำเริบนั่นแหละเป็นที่ต้องการ นั่นเป็นแก่นสาร นั่นเป็นที่สุดโดยรอบ สรุปและสาธยาย จากพุทธพจน์นี้ ๑.กิ่งไม้ใบไม้ เปรียบเหมือนลาภสักการะและชื่อเสียง เข้ามาสู่การปฏิบัติแล้วได้สิ่งนี้ยึดติดสิ่งนี้ก็เพียงได้กิ่งไม้ใบไม้ไป ๒.สะเก็ดไม้ เปรียบเหมือนความสมบูรณ์ ด้วยศีล เข้ามาสู่การปฏิบัติแล้วมุ่งมั่นเพียงเท่านี้แล้วยึดถือเป็นอุปาทาน ในสิ่งนี้ก็เพียงได้เป็นผู้มีศีลงดงาม ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการมีศีลสมบูรณ์เลย ๓.เปลือกไม้ เปรียบเหมือนความสมบูรณ์ ด้วยสมาธิ เอาแต่ทำสมาธิโดยไม่เข้าใจถึงความตั้งมั่นของจิตเอาแต่สงบเอาแต่นั่งได้นาน นั่นก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสมาธิเลยเช่นกัน ๔.กะพี้ไม้ เปรียบเหมือนญาณทัสสนะ หรือปัญญา เมื่อได้เกิดปัญญาก็ยึดในปัญญาว่าตนมีสัมมาทิฏฐิ นี้ก็ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่สามารถพ้นทุกข์ไปได้ ๕.แก่นไม้ เปรียบเหมือนความหลุดพ้น แห่งใจอันไม่กลับกำเริบอีก วิมุตติ ทำไมต้องไม่กลับกำเริบอีก เพราะในการปฏิบัติมีการหลุดพ้นเป็นขณะๆก็มี โดยเฉพาะในอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีนั้น มีการหลุดพ้นจากอาสวะได้เป็นขณะแต่ด้วยความที่ยังไม่เกิดปัญญาสูงสุดที่จะ วางลงอย่างถาวรจึงยังคงยึดถือจิตอยู่ จึงวางไม่ลง ทั้งๆที่รู้แล้วว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นนิโรธ อะไรคือมรรค แต่ยังทำปัญญาไม่ถึงที่สุด บ้างก็ยังทำความตั้งมั่นในสัมมาสมาธิไม่ถึงที่สุด จึงยังกลับกำเริบขึ้นมาอีกได้ ดังนั้นในขั้นของแก่นนี้ จะปล่อยวางปัญญา วางสติ เป็นอิสระไม่เข้าไปยึดถือเพราะต้นเหตุที่แท้จริงก็เมื่อจิตเข้าใจแจ่มแจ้ง ว่าจิตเองเป็นธรรมชาติเกิดวิชชารู้แจ้งขึ้นมาปล่อยความยึดถือตัวจิตเองจิต จึงเป็นอิสระอย่างแท้จริง สรรพสิ่งต่างๆทั้งปัญญาหรือญาณทัสสนะจะไม่ปล่อยวาง ในความเป็นจริงแล้วสัพเพธัมมา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่เคยถูกยึดถือจริงๆอยู่แล้วเป็นเพียงจิตโง่ไปยึด สิ่งเป็นธรรมชาติมาเป็นของเราในใจของเราเอง เขาไม่ได้อีโหน่อิเหน่ด้วยเลยให้ตายซิ เป็นกันไปได้ขนาดนี้ ดังนั้นพุทธพจน์นี้อยากให้เราชาวพุทธ รวมถึงนักปฏิบัติก็ดี ฟังคำพระพุทธเจ้าแล้วทำความเข้าใจให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องว่าเราเข้ามาสู่ การปฏิบัติทำไม อะไรเป็นจุดหมาย ทำได้ถึงไหนแค่ไหนไม่เป็นไรนั่นตามกำลัง(แต่ให้มันเต็มกำลังหน่อย อย่าเอ้อละเหยนัก) อย่างน้อยจะได้ฝังไว้ในหัวจิตหัวใจ สรุปอีกทีก่อนจบ กิ่งไม้ใบไม้ ท่าน คงไม่เอาล่ะ ลาภสักการะ แต่วันหนึ่งอีกอีกตำแหน่งหนึ่งก็ระวังดีๆละ อะไรยังไม่มีไม่รู้หรอก วันนี้ติดลาภและเสียงสรรเสริญเยินยอไหมล่ะ ชอบรึเปล่า? ตอบเอง ระวังแป้กตั้งแต่หมัดแรกของกิเลส สะเก็ดไม้ ศีล ศาสนาพุทธไม่ใช่ให้ถือศีลกันแบบถือเดี่ยวๆนะ ถือศีล๕อย่างเดียวไม่เรียกเจริญมรรคข้อ๓,๔ นะ เข้าใจให้ถูก ศีลในมรรคต้องประกอบด้วยปัญญาว่าถือทำไม เพื่อไม่มุ่งร้ายไม่เบียดเบียน เพราะอะไร? เพราะเมื่อเบียดเบียนผู้อื่นเราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ และศีลต้องประกอบด้วยสมาธิเช่นกัน เคยจะทำผิดอะไรไหม ถ้าความตั้งมั่นไม่ดี ห้ามใจตัวเองไม่อยู่นะ ถ้าสมาธิไม่มี บางที่ไม่รู้ด้วยซ้ำนะว่ากำลังทำผิดอยู่หรือทำผิดจบไปแล้วยังไม่รู้เลย นี่อย่างนี้นะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ว่าถือศีลก็ไม่ได้ประโยชน์จากศีล เปลือกไม้ สมาธิ เอาแต่นั่งหลับตาทำสมาธิ เอาแต่เดินจงกรมนึกว่าทำอย่างนั้นแล้วจะบรรลุ หรือฟังมาว่าทำอย่างนี้ล่ะวิปัสสนาก็ทำกัน ไม่ทำแล้วไม่ได้ปฏิบัติ หลงทำอย่างนี้ได้เปลือกไป ทำไมล่ะ ปฏิบัติแบบนี้ไม่ดีหรือ? ถามกันจัง ความจริงที่ผ่านมาดีทุกข้อสังเกตไหม แต่ไม่ใช่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่นั่นเท่านั้น สิ่งต่างล้วนเป็นกำลังสนับสนุนให้เกิดส่วนต่อๆไปจนถึงที่สุด ไม่ใช่แค่นั้น กะพี้ไม้ ญาณทัสสนะหรือปัญญา นี่ตรงนี้เป็นสัมมาทิฏฐืในองค์มรรค๘แล้วนะ ยังไม่จบเลยทำไมหรือ? โลกนี้กลมหรือแบน?..กลม เมื่อพันปีก่อนคนว่าโลกนี้แบนใช่ไหม?..ใช่ โลกเคยแบนตามความเชื่อของใครไหม?..ไม่เคย อย่างนี่เรียกได้ว่ามิจฉาทิฏฐิ เดี๋ยวนี้รู้กันหมดแล้วว่าโลกนี้กลม เรียกได้ว่าเกิดสัมมาทิฏฐินะ เอาล่ะวันนี้เกิดความเห็นถูกแล้ว โลกเลยกลับมากลมพร้อมทั้งแสดงความยินดีกับมนุษย์โลกที่วันนี้เข้าใจความจริง ไหม?..ไม่ (อย่าตอบ "ไม่รู้ซิ" นะ) ถ้ามีธรรมชาติหนึ่งที่เรียกว่า (ขันธ)โลก ถูกความเข้าใจผิดของใครบางคนที่เป็นนามธรรม(ความรู้สึก)ไปยึดถือเขา เขาโกรธไหม?..ไม่่ วันหนึ่งมีคนเข้าใจแล้วว่า (ขันธ)โลกนี้เป็นไปตามธรรมชาติของเหตุปัจจัยส่งผลให้อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา อย่างนี้เป็นสัมมาทิฏฐิไหม?..ใช่ เขาดีใจด้วยไหม?..ไม่ เราเข้าใจอย่างนี้เกิดปัญญาเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วใช่ไหม?..ใช่ หมดทุกข์รึยัง?..!!?!?#@@ อย่าเพิ่งตอบ ใครเกิดสัมมาทิฏฐิ???????? ยังมีใครแล้วจะหลุดพ้นได้อย่างไร? เมื่อยังไม่ถึงแก่นจึงได้ไปเฉพาะกะพี้ ยังไม่จบ รู้ไหมว่า ในอริยมรรคมีองค์๘ นั้นเมื่อจะถึงความเป็นพระอรหันต์เกิดเป็น สัมมาญาณ และสัมมาวิมุตติ นี่ล่ะถึงจะจบจริง เกิดเป็นวิมุตติญาณทัสสนะ ไม่ใช่ผู้รู้ว่าเรามีสัมมาทิฏฐิ แก่นไม้อยู่ที่นี่ นี่ถึงจะเป็นความยิ่งใหญ่ของพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งปัญญาการตรัสรู้ที่แท้จริง