ไม่ต้องไปเข้าคอร์ส ปฏิบัติที่บ้านก็ได้

22 พ.ค. 56 / 1352 อ่าน

ถูกต้อง นั่นเป็นความคิดที่ดีมาก เพราะการปฏิบัติธรรมจริงๆต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ขอฝากข้อสังเกตให้นักปฏิบัติได้ดูตามความจริงอย่าคิดแต่อยู่บนหลักการและเหตุผลเท่านั้น เพราะนั่นมันจะกลายเป็นอยู่กับคิด ไม่ได้อยู่กับจริง  
  1. การอยู่ที่บ้าน อยู่บนความเคยชินเคยคุ้นในทุกอย่าง หลงในอะไรติดในอะไรมันทำท่าจะดูไม่ออกนะ ถ้าไม่หาทางพรากออกมาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ท่านไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ก่อนไปสนุกสนานกับการเตรียมตัว วันไปความรู้สึกมีความสุข สนุกสนาน ไปได้สักพักเริ่มอยากกลับบ้าน เริ่มคิดถึงนั่น นี่ โน่นที่บ้าน ชักไม่ค่อยสนุกแล้ว ยิ่งถ้าใครมาทำให้หงุดหงิดยิ่งไปกันใหญ่ อยากกลับบ้านมันซะตอนนั้นเลย หากดูจริงๆจะเห็นชัดว่า เราติดบ้านมากนะ ดังนั้นการพรากออกมาอยู่วัด อยู่ศูนย์ปฏิบัติย่อมได้ประโยชน์ในการใช้กายพรากออกที่เรียกว่าเนกขัมมะ จากนั้นค่อยมาจัดการที่ใจด้วยการเห็นตามความจริง มองมุมไหนก็เห็นเหตุทั้งนั้นล่ะ แต่ละคนก็เห็นเหตุไปตามภูมิธรรม ภูมิจำ ภูมิรู้ของแต่ละคนไป จะเห็นตรงไหนสุดท้ายถ้าเห็นถูกก็โยงกลับไปที่ อุปาทานขันธ์ทั้ง๕ เป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น
 
  1. การมาในสถานปฏิบัติ มีหมู่กลุ่มกัลยาณมิตรที่คอยให้กำลังใจกัน เป็นแบบอย่างที่ดีต่อกัน เป็นการสร้างความเพียรอันไม่ถอยกลับ เกิดเป็นฉันทะ วายามะ วิริยะ ในการปฏิบัติ อดทนอดกลั้นในสิ่งที่ยึดถือยึดติดให้บรรเทาเบาคลายลงได้ตามลำดับ
 
  1. เป็นการสั่งสมอัธยาศัยในทางธรรม วันทั้งวันมีแต่การฝึกที่จะมีสติ สัมปชัญญะ แม้จะได้บ้าง เผลอบ้าง ยังไงก็ดีกว่าอยู่โดยไหลไปทั้งวัน ถึงเวลาปฏิบัติไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่อยากทำก็ต้องฝืนทำเพราะเข้ามาแล้ว นี่จะเป็นเหตุให้วันข้างหน้าเมื่อมีการทำต่อเนื่องจนพ้นจากกิเลสชั้นหยาบๆจิตใจก็จะเป็นอิสระมากขึ้น แต่ต้องไม่หยุดเพียงเท่านี้ นี่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ทาง เพราะเด็กไปอยู่โรงเรียนประจำก็ดี ทหารเกณฑ์ทีถูกส่งไปฝึกก็ดี ล้วนเป็นอย่างนี้เหมือนกันคือเบื่อในตอนแรกสุดท้ายก็ชินอีก เมื่อชินก็อยู่ได้ แล้วก็ชินและติดกับสภาพใหม่ นี่เป็นธรรมชาติของสังขารที่สามารถปรับตัวได้ แต่เพราะความไม่รู้ก็ไปหลงสร้างตัวตนตามมาอีก กูเก่งที่อยู่ในสภาพนี้ได้ต่อไป ไม่ใช่ว่าอยู่ลำบากจะดีหรือเก่งอะไร คนงานก่อสร้างย้ายที่อยู่ไปอยู่ตามแคมป์ที่พัก ลำบากกว่านักปฏิบัติเป็นไหนๆ อินเดีย บังคลาเทศที่ไปเห็นกันมาก็หนักหนากว่าศูนย์ปฏิบัติมากมาย ไม่เห็นมีใครพ้นทุกข์กันเลย ดังนั้นต้องเข้าใจว่านี่เป็นจุดเริ่มพรากอย่างมีปัญญา หากไม่ประกอบด้วยปัญญาจากการเจริญมรรคมีองค์ ๘ จะเกิดการหมุนวน หลงวน ไม่เกิดเป็นกำลังของมรรคที่จะชำระความเห็นผิด เพราะมรรคประกอบด้วย ปัญญา ศีล สมาธิ รวมกันเป็นหนึ่ง ไม่แยกทำหรือทำอย่างเดียว
แต่คำว่าลำบากนั้นก็ต้องมองให้ทะลุ การอยู่แบบที่ชาวเมืองเรียกลำบาก คนอื่นหรือนักปฏิบัติอาจจะไม่ได้รู้สึกลำบากเลย หรือแม้แต่ที่ว่าสบาย นักปฏิบัติก็ไม่ได้มีใจไปปักหรือสนใจอะไรเลย มันมาจากการดำริขึ้นมาในใจ เพราะมันก็แค่ได้นอนพัก ได้กินเพื่ออยู่เท่านั้น จะได้ทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นซึ่งก็คืออย่างเดียวกันนั่นล่ะ ทำประโยชน์ผู้ิื่นนั่นก็ทำประโยชน์ตน เพราะธรรมชาติแต่ละคนเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวเอง หามาก็เพื่อตัว้องและครอบครัวพวกพ้อง ดังนั้นการทำประโยชน์ผู้อื่นก็กลับมาขัดเกลาความเห็นแก่ตัวนั่นเอง  
  1. ได้เห็นความจริง ความจริงระดับไหนแบบไหนก็ตามแต่อินทรีย์ บารมีของแต่ละคน แต่อย่างไรก็ดีทั้งนั้นล่ะ ได้เกิดปัญญาเป็นลำดับๆไป ไม่ใช่ว่าต้องอย่างนั้นถึงจะใช่อย่างนี้ถึงจะถูก คนยืนอยู่ที่ 1 นาฬิกา ก็เห็นในมุมของ 1 นาฬิกา คนที่ 6 นาฬิกา ก็เห็นในมุมของ 6 นาฬิกา คนเห็นที่ 9 นาฬิกา จะให้คนที่เห็น 6 นาฬิกา มาเห็นอย่างตนก็ไม่ได้แล้วจะบอกว่าเขาเห็นผิดก็ไม่ได้ เขาเห็นถูกในเวลานั้นๆแล้ว เพียงแต่บอกกล่าวคำของพระพุทธเจ้าให้จิตมีเส้นทางเดิน เพียงแต่รายละเอียดการเดินหรือปัญญาการเห็นนั้นอาจจะเห็นไปต่างมุมกัน เช่นบ้างเห็นอนิจจัง ก็ปล่อยวาง บ้างเห็นทุกขังก็ปล่อยวาง บ้างเห็นอนัตตา ก็ปล่อยวางนี่เป็นระดับการเห็นที่มาจากพื้นฐานตามการสั่งสมของบุคคล เพราะเห็นอะไรก็วางได้เพราะนั่นเป็นลักษณะ ๓ ประการที่ทำให้จิตยอมรับความจริงว่านั่นไม่ใช่เของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา เพราะทั้งหมดเป็นเพียงรูป-นาม ขันธ์๕ ถึงแม้จะไม่มีคำพูดที่เป็นบัญญัติเหล่านี้ออกมาเมื่อเกิดปัญญาก็ตาม แต่ในระดับความเข้าใจนั้น จิตได้เห็นแล้ว และหากเห็นจนแจ่มแจ้งก็จะไปถึงนิโรธได้เป็นลำดับ จนถึงความเห็นที่เป็นสัมมาญาณ จนสัมมาวิมุตติในที่สุด
  จนกระทั่งใครๆเริ่มเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ ก็เริ่มจะทำอะไรเพื่อตนเองไม่ค่อยลง เริ่มรู้สึกถึงความไร้แก่นสารของความยึดมั่นถือมั่นหรือการไล่ล่าหาแต่ความสุขที่ล้วนเกิดขึ้นดับไปทั้งสิ่งภายนอกและสิ่งภายใน มีแต่สภาพบีบคั้นไม่เคยคงที่หรือเสถียรเลย เป็นเพียงของว่างของเปล่าที่ไม่ได้มีตัวตนอะไร มีขึ้นจากเหตุปัจจัยทั้งเหตุปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นเข้ามา และทั้งเหตุปัจจัยภายในจากความไม่รู้ หลงสร้างการปรุงแต่งทั้งดี ไม่ดี แล้วเกิดอารมณ์ เป็นความอยาก ความยึด ภพ ชาติไม่มีสิ้นสุด ไล่ล่าเท่าไหร่ไม่เคยสุดขอบ มีทางต่อยืดยาวออกไปไม่เคยจบสิ้น ยิ่งหายิ่งได้ยิ่งโลภ บ้างยิ่งหายิ่งติดกับ ยิ่งทุกข์ ยิ่งดิ้น ยิ่งแสวง โดยไม่รู้ว่ามันจะไปจบที่ตรงไหน แต่ขอบอกเลยว่า ไม่จบที่ตายหรอก เพราะตายนั้นมันคือจุดเริ่มต้นใหม่ต่อไป ตรงรอยต่อที่ขันธ์เดิมแตกทำลายแล้วก่อขันธ์ใหม่ด้วยอำนาจแห่งวิบากต่อไป   บ้างก็เริ่มคลายความยึด ตัดใจออกบวช พรากออกจากเรือน บ้างยังพรากออกไปไม่ได้เพราะยังมีหน้าที่ มีภาระรับผิดชอบทั้งต่อ พ่อแม่ก็ดี สามีภรรยา บุตรก็ดี หรือแม้แต่พนักงานลูกน้องก็ดี ดังนั้นต้องทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม อย่างดีที่สุด เพื่อผู้อื่น ไม่หลงสร้างความรู้สึกลมๆแล้งว่าเราดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราได้แค่นี้ชาตินี้ก็ดีแล้ว เพราะนั่นล่ะตัวตนล่ะ ที่หลงเข้าไปยึดถือนั่งคร่ำครวญจนเป็นทุกข์ ค่อยๆละไปละไปจนจิตใจใสขาวรอบ เห็นเลยว่า มีแต่การปรุงแต่งด้วยความไม่รู้จึงหลงไปยึดถือเกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้น จิตจึงวางความเห็นผิดลง เข้าสู่อุเบกขาความสงบในจิต จนเคยคุ้นกับความสงบแทน ไม่สร้างตัวตนทั้งในส่วนสักกายทิฏฐิ และจางคลายลงในระดับมานะ อัตตาในข้อวัตรแห่งตน ทิฏฐิของข้า   หากเดินมาได้ถึงตรงนี้เมื่อไหร่ก็คงไม่ยากแล้ว คงไม่ต้องแกว่งไปแกว่งมาวิ่งหาคำสอนนั้นคำสอนนี้อีกเพราะเข้าใจได้เองว่า การเดินทางทั้งหลายที่เป็นสัมมานี้ ก็มาจากมรรคมีองค์๘ นั่นเอง ไม่มีใครเก่งหรอก เก่งจริงอยู่ที่จัดการกิเลสตน จิตที่อิสระไม่มัวไปปลื้ม ไปยกย่อง ไปเพ่งโทษใครเก่งไม่เก่ง มองลงจัดการกิเลสตน ตัวตนแห่งตน จนไร้ความรู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่ อยากจะบรรลุธรรม นั่นจะเหลือเพียง "ธรรมชาติ"หรือ "พระธรรม" อันเป็นปลายทาง หากใครปฏิบัติที่บ้านได้อย่างนี้ เข้าใจได้จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ตามคำพระศาสดา ก็คงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องทำอะไรๆให้เหนื่อยยากลำบากกายอีก 2013-05-22